รูปภาพ ภ่ายถ่าย ผู้ที่เป็นผู้สร้างสรรค์หรือเป็นเจ้าของผลงานดังกล่าว กฎหมายให้ความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องจดทะเบียน ให้ผู้สร้างสรรค์หรือผู้เป็นเจ้าของผลงานนั้น เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์
เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้มีสิทธิเพียงผู้เดียวในการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ ให้ประโยชน์หรืออนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ โดยมีลิขสิทธิ์ตลอดอายุของผู้สร้างสรรค์ และมีอยู่ต่อไปอีก 50 (ห้าสิบ) ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาม
ดังนั้น รูปภาพ ภาพถ่ายทุกรูปย่อมเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ผู้ใดทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาต ย่อมเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้ไม่ได้ทำไปเพื่อการค้าก็มีความผิด
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3240/2543
การทำป้ายโฆษณาของจำเลยอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นเพียงการโฆษณาให้มีผู้มาเที่ยวงานอยุธยามรดกโลก แม้จำเลยจะได้ผลประโยชน์จากการที่มีผู้มาเที่ยวงานชมพิธีคล้องช้างของจำเลยก็ตามจำเลยก็มิได้นำภาพการคล้องช้างในป้ายโฆษณาไปทำการค้าขายหากำไรโดยตรง การกระทำของจำเลยยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เพื่อการค้า
จำเลยเป็นผู้ดำเนินการจัดทำป้ายโฆษณาขึ้นโดยการถือเอาภาพ "พิธีคล้องช้าง" ของโจทก์เป็นต้นแบบจึงเป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และนำออกเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ มีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537มาตรา 27(1)(2), 69 วรรคแรกให้ปรับ 50,000 บาท
ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์
หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้
(1) วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(2) ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท
(3) ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(4) เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น
(5) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว
(6) ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร
(7) ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร
(8) นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ
(9) ทำซ้ำ หรือดัดแปลง เพื่อประโยชน์ของคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์อันเนื่องมาจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน สติปัญญา หรือการเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่น โดยต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร