พนักงานลูกจ้างในประเทศไทยได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายโดย พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ดังนั้นการเลิกจ้างพนักงานลูกจ้างต้องกระทำตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้เลิกจ้างได้ทันทีโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีดังต่อไปนี้เท่านั้น คือ
(1) ทุจริตต่อหน้าที่หรือกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง
(2) จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
(3) ประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
(4) ฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระเบียบ หรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรม
กรณีไม่ร้ายแรง นายจ้างต้องตักเตือนเป็นหนังสือก่อน หนังสือเตือนให้มีผลบังคับได้ไม่เกิน 1 (หนึ่ง) ปี นับแต่วันที่ลูกจ้างได้กระทำผิด หากกระทำผิดซ้ำหนังสือเตือนภายในระยะเวลา 1 ปี เลิกจ้างได้ทันที
กรณีร้ายแรง นายจ้างไม่จำเป็นต้องตักเตือน เลิกจ้างได้ทันที
(5) ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลา 3 (สาม) วันทำงานติดต่อกันไม่ว่าจะมีวันหยุดคั่นหรือไม่ก็ตาม โดยไม่มีเหตุอันสมควร
(6) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ถ้าเป็นความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษต้อง
เป็นกรณีที่เป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
สิ่งที่สำคัญที่นายจ้างต้องพิจารณาก่อนการเลิกจ้าง คือ
1. ลูกจ้างกระทำความผิดจริงหรือไม่ มีหลักฐานหรือไม่
2. การกระทำดังกล่าวเข้าหลักเกณฑ์เลิกจ้างข้อไหน และร้ายแรงพอทีจะเลิกจ้างได้หรือไม่ เพื่อแจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างที่ถูกต้องให้ลูกจ้างทราบ
ข้อควรระวังสำหรับนายจ้าง
1. การกระทำความผิดของลูกจ้างครั้งหนึ่ง นายจ้างจะลงโทษซ้ำไม่ได้ เช่น หัวหน้างาน แจ้งการลงโทษด้วยการตักเตือนเป็นหนังสือไปแล้ว เรื่องถึงผู้บริหารให้เลิกจ้าง
2. การกระทำความผิดของลูกจ้างนั้นร้ายแรงพอทีจะเลิกจ้างได้หรือไม่ กรณีนี้ต้องศึกษาคำพิพากษาศาลฎีกาว่าร้ายแรงพอทีจะเลิกจ้างได้หรือไม่
3. การเลิกจ้างต้องแจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างที่ถูกต้องให้ลูกจ้างทราบทันที
ผลของการเลิกจ้างที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
1. ต้องจ่ายค่าบอกกล่าวเลิกจ้างล่วงหน้า กรณีที่ให้ออกจากงานทันที โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 1 งวดการจ่ายค่าจ้าง
2. ต้องจ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้างตามอายุงานของลูกจ้างรายนั้น
3. ต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม